สนามกีฬาจรัญ บุรพรัตน์

เล่าเรื่อง

โดย ยืนหยัด  ใจสมุทร

นายกสมาคมสโมสรฯ



                                                                                             


ผมลาออกจากสำนักงานอัยการสูงสุด มาเป็นรองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ และรู้สึกประหลาดใจ(นิดๆ)ว่า กทพ.ก่อตั้งเกือบ ๒๖ ปี แต่ยังไม่มีสนามกีฬาใดๆได้มาตรฐาน จำได้ว่ามีการแข่งขันกีฬาสี ผมได้ไปดูการแข่งขันตะกร้อ ซึ่งมีสนามอยู่ที่ฝ่ายกรรมสิทธ์ที่ดิน นักกีฬาแข่งขันกันสุดฝีมือ คนดูก็เชียร์กันอย่างสนุกสนาน แม้จะแข่งกันที่สนามซ้อมก็ตาม ต่อมา มีการแข่งขันกีฬาภายในฝ่ายจัดเก็บค่าผ่านทาง ไปแข่งขันกันที่สนามกีฬาของโรงเรียนไหนสักโรง ผมได้ไปเชียร์กับเขาด้วย ตอนนั้นก็ยังงงๆคิดอะไรไม่ออกว่าเหตุใด กทพ. จึงไม่มีสนามกีฬาของตนเอง แต่ก็รู้ว่ารัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐาน

ต่อมา ผมถูกย้ายสายฟ้าแลบมาเป็นรองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ พอดีมีการเลือกนายกสโมสร กทพ. ใหม่ แทนคุณปรีชา ศรีทองสุข ที่เป็นผู้ว่าการจึงไม่ขอเป็นนายกต่อ น้องๆได้ทาบทามให้ผมเป็นนายกคนใหม่ ผมก็รับปากน้องๆไป และได้เป็นนายกสโมสรตามที่สมาชิกเลือกกัน ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๕ คุณถวัลย์วิทย์ พรหมผลิน ประธานสหภาพ กทพ. นำทีมงานไปพบผมปรึกษาว่า กทพ. อนุญาตให้สหภาพสร้างสนามฟุตบอลที่บริเวณอโศก แต่สหภาพมีงบเพียง ๕๐,๐๐๐ บาท จึงไม่เพียงพอสร้างได้ จะขอให้สโมสรดำเนินการต่อ โดยสหภาพจะสนับสนุนเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท

ผมนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการบริหารสโมสร คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้สร้างสนามกีฬาฟุตบอลได้ สโมสรจึงทำเรื่องขออนุญาตจาก กทพ. ในการสร้างสนามฟุตบอลบนที่ดินว่างเปล่าบริเวณอโศก ซึ่ง กทพ. เวนคืนมาสร้างทางพิเศษแต่ยังไม่ได้สร้างตามวัตถุประสงค์ที่เวนคืน กทพ. อนุญาตให้สโมสรดำเนินการได้ เพราะได้เคยอนุญาตให้สหภาพสร้างมาก่อนแล้ว และถือว่าสโมสรมีภารกิจโดยตรงในเรื่องสร้างสนามกีฬา



ผมจำไม่ได้แล้วว่าเมื่อสร้างสนามตอนนั้นใครเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงบ้างคงไม่ว่ากัน ซึ่งการก่อสร้างไม่ได้เน้นมาตรฐานเท่าที่ควร สโมสรใช้เงินไปประมาณ ๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ บาท มีการปรับพื้นที่และนำดินมาถมแล้วอัดให้เรียบ ปูหญ้า ทำประตูฟุตบอล ตีเส้น ก็เป็นอันได้สนามฟุตบอล ๑ สนาม แม้จะไม่ค่อยได้มาตรฐาน แต่พวกเราก็ดีอกดีใจ เพราะมีสนามฟุตบอลเป็นของเราเสียที จึงประกวดตั้งชื่อ และได้ชื่อ “สนามกีฬารวมใจ ๓๐ ปี กทพ.” ซึ่งคุณคำรณ พวงสมบัติ พนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งมาให้อย่างเหมาะสม เพราะ กทพ. มีอายุครบ ๓๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๔๕ พอดี

สนามรวมใจ ๓๐ ปี กทพ. ใช้งานได้เพียง ๓ ปี ก็มีปัญหา เพราะการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน พื้นสนามทรุดเป็นหลุม บางแห่งมีแท่งคอนกรีตโผล่ขึ้นมา จึงไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นสนามต่อไป คณะกรรมการสโมสรจึงได้มีมติให้สร้างสนามใหม่ให้ได้มาตรฐาน ตั้งผู้ชำนาญการของการกีฬาแห่งประเทศไทยมาเป็นที่ปรึกษาในการก่อสร้าง มีการประกวดราคา ซึ่งผมจะไม่เล่ารายละเอียดเหล่านี้ และเราได้ติดต่อกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้มาร่วมมือในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจกับ กทพ. ซึ่ง BECL ก็ได้มาสร้างอัฒจันทร์นั่งเชียร์กีฬาให้กับเราดังที่เห็นกันอยู่แล้วและมีลักษณะที่สามารถถอดออกไปประกอบใหม่ได้หากจำเป็น




ปัญหาอยู่ที่การสร้างห้องน้ำ ซึ่งต้องสร้างในลักษณะที่ไม่ถาวร เพราะเป็นที่ดินที่เวนคืนมาสร้างทางพิเศษ ไม่สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างถาวรได้ เราจึงต้องใช้ห้องน้ำตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งไม่สู้จะสะดวกสบายมากนัก และดูเหมือนว่าจะแพงกว่าสร้างแบบถาวรด้วยซ้ำไป แต่เราไม่สามารถทำอะไรที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้ รวมงบที่สโมสรใช้ไปในการก่อสร้างสนามกีฬาและห้องน้ำราว ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

อันที่จริง  สโมสรตัดสินใจที่จะสร้างสนามกีฬาในบริเวณอโศกให้ครบวงจร ไม่ใช่สร้างเฉพาะสนามฟุตบอลเท่านั้น จึงได้ทำหนังสือขออนุญาต กทพ. ใช้พื้นที่ว่างเปล่าที่อโศกทั้งหมด รวมทั้งบริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วนด้านหน้าเพื่อสร้างสนามแบดมินตันด้วย ซึ่ง กทพ. ก็ได้อนุญาตให้ กทพ. ดำเนินการตามความประสงค์ แต่ภายหลังสโมสรได้ตัดสินใจไม่สร้างสนามแบดมินตัน เพราะพื้นที่ใต้ทางด่วนสูงไม่เพียงพอ และหากจะสร้างโรงยิมใกล้สนามฟุตบอลด้านติดถนนก็จะต้องใช้งบมากเกินไป อีกทั้งจะเป็นอาคารถาวรซึ่งเราสร้างไม่ได้บนพื้นที่ที่เวนคืนมา



ตอนแรกคิดจะประกวดตั้งชื่อสนามกีฬาอีก แม้บางคนจะเสนอให้ใช้ชื่อเดิม แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าสนามเดิมไม่มีอีกแล้ว จึงต้องตั้งชื่อกันใหม่ ผมเสนอที่ประชุมว่า ผมมีความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมในองค์กรตลอดมา ไม่ว่าเมื่ออยู่ในสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งผมได้ทำสำเร็จหลายเรื่อง เมื่อมาอยู่ที่ กทพ. ก็พยายามทำหลายๆเรื่อง การตั้งชื่อสนามกีฬา ผมจึงอยากใช้ชื่อของอดีตผู้ว่าการที่มีผลงานเพื่อ กทพ. โดดเด่นที่สุด คือ ท่านผู้ว่าจรัญ บุรพรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการถึง ๑๔ ปี ที่ประชุมเห็นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งเป็นคุณธรรมของคนดี ชาวสโมสรส่วนใหญ่เป็นคนดี ผมจึงรับหน้าที่ไปขออนุญาตจากท่านผู้ว่าจรัญ บุรพรัตน์ ซึ่งท่านก็อนุญาตให้ใช้ชื่อของท่านเป็นสนามกีฬาได้อย่างเต็มใจ และรู้สึกขอบคุณที่พวกเรายังระลึกถึงท่านอยู่



เรื่องต่อไปคือจะต้องทำป้ายให้สวยงามสมศักดิ์ศรีของชื่อจรัญ บุรพรัตน์ คุณวิสูตร ทิพย์สุข บอกผมว่า ป้ายสวนมะพร้าวน้ำหอมเป็นป้ายสวยงามและมีความเหมาะสม เมื่อมะพร้าวน้ำหอมที่เราร่วมปลูกกันมาต้องขุดออกไปหมดเพราะการเชื่อมต่อทางด่วนสายเอสวันสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ป้ายชื่อสวนยังเก็บไว้ไม่นำไปไหน ผมจึงให้คุณทศานุช ธรรมโชติ เลขานุการ ไปประสานติดต่อขอซื้อจากแผนกพัสดุ ซึ่งเขาตกลงชั่งขายผมเป็นกิโล และดูเหมือนว่าผมต้องจ่ายไปถึง ๑๒,๐๐๐ บาท แล้วยกให้สโมสรนำไปปรับปรุงเป็นป้ายสนามกีฬาจรัญ บุรพรัตน์ อย่างสวยงามดังที่เห็นกันอยู่  และได้ทำพิธีเปิดสนามอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นเวลาที่ผมลาออกไปจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแล้ว แต่ยังนั่งเก้าอี้นายกสโมสร เราจึงมีสนามฟุตบอลที่จัดว่าได้มาตรฐาน อยู่ใจกลางมหานคร การจราจรสะดวกสบาย มีทางด่วน รถยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบนอากาศ รวมทั้งเครื่องบินผ่านไปมา มีประชาชนมาขอใช้สนามไม่ขาด ซึ่งเราเต็มใจให้เขามาใช้ เพราะสนามกีฬาเป็นที่ดินของประชาชนที่ กทพ. เวนคืนมา เรามีหน้าที่ต้องดูแลไว้เท่านั้น ไม่หลงผิดคิดว่าเป็นเจ้าของเป็นอันขาด




หลังจากนั้นเราก็คิดขยายผลกันต่อไป โดยตัดสินใจสร้างสนามฟุตซอลขึ้นอีก ๑ สนาม ให้มีมาตรฐานตามสมควร ไม่มีหลังคาเพราะต้องใช้งบมากเกินควร แต่ก็มีอัฒจันทร์สำหรับนั่งดูนั่งเชียร์กัน BECL พันธมิตรธุรกิจของเราก็ช่วยติดตั้งไฟฟ้าในสนามให้ เพราะกีฬาฟุตซอลอาจต้องเล่นกันจนมืดค่ำ จึงต้องมีไฟฟ้าให้ความสว่าง เมื่อมีสนามฟุตซอลขึ้นอีก ๑ สนาม ทำให้พวกเราแฮปปี้กันมาก เนื่องจากตอนหลังชอบเล่นฟุตซอลมากกว่าฟุตบอล จัดทีมเล่นง่ายกว่า การแข่งขันฟุตซอลทางด่วนคัพ ชิงถ้วยนายกสโมสร คุณธีร ขอพร ไม่ต้องใช้สนามโรงเรียนสารวิทยาอีกต่อไป

ก่อนนั้นให้คุณสนั่น อ้นชนะ เป็นผู้จัดการสนามกีฬา มีการสร้างแอร์พอร์ตลิงค์พอดี บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้มาพูดคุยกับคุณสนั่น  คุณสนั่นมีวิสัยทัศน์ไกล จึงอนุญาตให้ผู้รับเหมานำดินมาถมบ่อน้ำเน่าที่สูบมารดหญ้าสนามกีฬาทุกวัน (บางทีคุณสนั่นต้องรดน้ำถึงตี๑-ตี๒ เพราะผู้รับจ้างดูแลสนามทำไม่ทัน) ปรากฏว่าบ่อน้ำเน่าได้กลายสภาพเป็นเกาะมีเนื้อที่ถึง ๓ ไร่ คุณอุดม เลียบไทสง ได้นำต้นไม้มาปลูกไว้เยอะแยะ จนผ่านไปถึง ๒-๓ ปี

วันหนึ่ง  พวกเราได้เกิดความคิดกันว่า มีผู้มาขอใช้สนามกีฬาจรัญแข่งกีฬาเพนท์บอลติดต่อกันมาหลายปี เราน่าจะสร้างสนามกีฬาเพนท์บอลของเราสักสนามหนึ่งที่เกาะของคุณสนั่น อ้นชนะ โดยจะไม่ลงทุนสร้างเอง แต่จะให้ผู้ที่เคยใช้สนามกีฬาเราแข่งเพนท์บอลเป็นคนสร้างให้ เขาสร้างสนามแล้วจะได้ไม่ต้องมาจ่ายค่าใช้สนามให้กับเราเช่นแต่ก่อน มีสิทธิ์ใช้ได้เลย เขาเห็นดีเห็นงามด้วย จึงตกลงทำสนามเพนท์บอลในบริเวณดังกล่าว แต่ทำดีเกินไปจนงบบานถึง ๓-๔ ล้านบาท






สโมสรของพวกเราจึงมีสนามกีฬาเพนท์บอลเพิ่มขึ้น ๑ สนาม ซึ่งเราสามารถจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ โดยปีนี้ชมรมกีฬาเพนท์บอล ได้จัดการแข่งขันกีฬาเพนท์บอลระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ๓๐ ปี คอร์เดียบาน ผู้สร้างสนามกีฬาเป็นที่ปรึกษาให้แก่ชมรมเพนท์บอลของสโมสร และให้หยิบยืมอุปกรณ์ต่างๆสำหรับใช้ในสนาม เขาได้ประโยชน์จากการใช้สนามฝึกซ้อมนักกีฬาเตรียมตัวไปแข่งต่างประเทศ เราได้สนามมาให้สมาชิกสโมสรใช้ฝึกซ้อมกีฬาชนิดใหม่นี้ ต่อไปจะได้มีนักกีฬาของสโมสรไปแข่งต่างประเทศบ้าง ผมอยากอวดว่า กทพ. เป็นรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวที่มีสนามกีฬาเพนท์บอล



อันที่จริง  เราเคยมีที่จอดรถสบายๆจอดได้ถึง ๑๐๐ คัน แต่ตอนหลัง กทพ. ขอพื้นที่คืนไปสร้างที่ทำงานให้แก่จราจรและกองกู้ภัยด่วน ๒ เป็นอาคารชั่วคราว แม้เราจะเสียดายที่จอดรถดีๆ เพราะอุตส่าห์ลงทุนลงแรงทำกันมาเพื่อความสะดวกแก่ผู้ใช้สนามกีฬา แต่เมื่อน้องๆกู้ภัยจราจรไม่มีที่อยู่ที่ทำงานและ กทพ. ขอมา สโมสรก็ยินดีมอบคืนให้ไป ซึ่งมีผลให้ที่จอดรถของสนามกีฬาในขณะนี้คับแคบไปกว่าเดิมมาก



พื้นที่สนามกีฬาจรัญ บุรพรัตน์ ทั้งหมดตั้งอยู่บนที่ที่ กทพ. เวนคืนมาเพื่อสร้างทางพิเศษ เมื่อใดที่ กทพ. จะสร้างทางพิเศษในพื้นที่นี้ สโมสรก็มีความยินดีจะมอบคืนให้ไป หรือหากเจ้าของเดิมหรือทายาทฟ้องร้องขอคืนตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองมีคำพิพากษาให้คืนแล้ว สโมสรก็มีความจำเป็นต้องคืนให้ไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในระหว่างนี้เราก็อยู่กันแบบชั่วคราวไปก่อน แบบไม่มีกำหนดเวลา แต่ไม่ถึงกับชั่วนิรันดรแน่นอน

สนามกีฬาจรัญ บุรพรัตน์ มีมูลค่าทางบัญชีกว่า ๗,๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษ โดยได้สร้างอัฒจันทร์เพิ่มอีก ๒ อัฒจันทร์ และสร้างศาลานั่งชมกีฬาสำหรับผู้บริหาร กทพ. ๑ ศาลา มูลค่าราว ๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นสนามกีฬาที่เราภูมิใจและหวงแหน และมวลสมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน เราจะร่วมกันใช้และร่วมกันดูแล เพื่อพวกเราทุกคน






พันธ์ุไม้ในสนามฯ


พันธ์ุไม้ในสนามฯ



พันธ์ุไม้ในสนาม



พันธ์ุไม้ในสนามฯ

พันธุ์ไม้ในสนามฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น